สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ปัจจุบันเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้พัฒนามาจากหน่วยประเคราะห์ ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูกาญจนบุรี วิทยาลัยครูการจนบุรีได้เริ่มเปิดให้มีการเรียนการสอน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2519 เป็นต้นมา โดยผู้บริหารคนแรกคือ นายธงชัย สมครุฑ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยครูกาญจนบุรี ได้ตระหนักถึงภารกิจของวิทยาลัยครู ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2519 นอกจากจะเปิดให้มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว ยังมีภารกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือการทำนุบำรุง ส่งเสริม เผยแพร่ พัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม และอื่นๆ อีกด้วย จึงได้ดำเนินการจัดหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และในขณะนั้นวิทยาลัยครูทั่วประเทศก็ได้ร่วมมือกับกองวัฒนธรรม กรมการศาสนา จัดตั้งหน่วยประเคราะห์ ศูนย์ชุมชนส่งเสริมวัฒนธรรมไทยขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 และต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม พ.ศ. 2523 และประกาศใช้ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2524 ซึ่งมีผลทำให้หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูกาญจนบุรี เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูกาญจนบุรี และทำหน้าที่เป็นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี อีกบทบาทหนึ่งด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แทนชื่อวิทยาลัยครู และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชภัฏ พ.ศ. 2538 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2538 ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 สถาบันราชภัฏกาญจนบุรีขณะนั้นจึงมีภารกิจเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีภารกิจหลักอยู่ 6 ประการหนึ่งใน 6 ประการนั้นก็คือ “ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม” ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จึงเป็นหน่วยงานหลักเพื่อตอบสนองภารกิจดังกล่าว จึงได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานใหม่เป็น “สำนักศิลปวัฒนธรรม” ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มีผลทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยใหม่และเพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างการบริหารงานใหม่ สำนักศิลปวัฒนธรรมจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม” ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

          นอกจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม จะเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการตามภารกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีในด้าน “ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม” แล้วยังมีภารกิจที่ต้องดูรับผิดชอบอีก 2 ภารกิจ คือ 1) หอวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชัฏกาญจนบุรี (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี) และ 2) หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้

           1. หอวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี) และในปี พ.ศ. 2555 ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ภายใต้การดูแลและสนับสนุน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช
หอวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความพร้อมด้านสถานที่ องค์ความรู้และการบริหารจัดการให้เป็น “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีการรวบรวมพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวข้องกับจังหวัด และความรู้ในท้องถิ่นด้าน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” (Intangible Cultural Heritage) และเปิดพื้นที่ให้กับการอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ใช้ระบบการบริหารการจัดการความรู้ คลังข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้การจัดนิทรรศการในรูปแบบสื่อผสม การสาธิต การฝึกอบรม และการแสดง และเป็นการบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่าย ทั้งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด สถานศึกษา ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

           2. หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานในท้องถิ่นที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานประสานงานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในท้องถิ่น ทำหน้าที่อบรมและประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรูความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมและศิลปกรรมให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และศึกษารวบรวมบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของแหล่งธรรมชาติและศิลปกรรม ตลอดจนเป็นหน่วยตรวจสอบดูแลป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมที่เป็นต้นเหตุ และรายงานสถานการณ์ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม